หลังจากที่ประยุทธ์ออกคำสั่งตัดอินเทอร์เน็ตผู้เสนอข่าว ที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวจนกระทบความมั่นคงไป วันนี้ รมว. DES ให้สัมภาษณ์ระบุว่าการตีความว่าข่าวใดที่เข้าข่ายทำให้หวาดกลัวต้องดูที่เจตนา โดยดุลยพินิจเป็นของเจ้าหน้าที่กระทรวง DES กสทช. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการเสนอข่าวแม้จะเป็นความจริงแต่ถ้าเป็นการเสนอข่าวที่ไม่ครบถ้วนที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความเชื่อมั่นก็อาจเข้าข่ายดังกล่าวได้
เมื่อเช้าวันนี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่าด้วยคำสั่งตาม พรก. ฉุกเฉินฯ โดยระบุว่าข้อ 1 ตามคำสั่งดังกล่าวจะดูจากเจตนาเป็นหลักและผลกระทบที่เกิดขึ้น ครอบคลุมทั้งสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไปที่ใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อข่าว แม้จะเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าเป็นการเสนอ “ในมุมที่เป็นลบอย่างเดียว มุมบวกไม่ได้ออกมา ทำให้คนเข้าใจผิด” ก็เข้าข่ายผิดข้อดังกล่าว
ต่อข้อคำถามเรื่องการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำงานของรัฐบาล (call-out) นั้น รมว. ตอบว่าน่าจะเป็นการแสดงออกทางการเมือง ไม่เข้าข่ายตามคำสั่งดังกล่าว โดยยกตัวอย่างคลิปวีดิโอของดาราต่างๆ ระบุว่ายังไม่เห็นใครถูกดำเนินคดี
เมื่อถามถึงการเสนอภาพผู้ป่วยผู้เสียชีวิตที่ประสบเหตุริมถนน รมว. ตอบว่าต้องดูที่เจตนา ถ้าเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ได้คิดที่จะ discredit ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าเป็นการ “แกล้งมาถ่ายแล้วเอามาโพสต์” ถือเป็นผิด กระนั้นจะถือว่าทำให้หวาดกลัวหรือไม่ก็ต้องดูเจตนา ไม่อาจจะตอบได้ทันที
ว่าด้วยการเสนอความเห็นทางวิชาการนั้น รมว. กล่าวว่าแม้จะเป็นความเห็นจริง แต่ถ้าเป็นความเห็นคนเดียวแล้วนำมาออกข่าว ทำให้คนไม่กล้ามาฉีด “มีข้อมูลอื่นอีกเยอะ แล้วไม่เอามาพูด” ก็ถือว่าเจตนา discredit เพื่อหวังผลทางการเมือง ควรจะให้ข้อมูลครบถ้วน
เมื่อถูกถามเรื่องดุลยพินิจในการพิจารณานั้น รมว. ตอบว่าโดยหลักการเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่กระทรวง DES กสทช. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยก่อนหน้าก็มีการทำงานร่วมกันตามอำนาจใน พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในการปิดกั้น website อยู่แล้ว การออกคำสั่งดังกล่าวเพื่อให้สามารถใช้อำนาจของ กสทช. ทำให้กระบวนการดังกล่าวเร็วขึ้นจากเดิมที่ต้องอาศัยกระบวนการทางศาลซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาจไม่ทันการที่ข้อมูลอาจเผยแพร่อย่างกว้างขวางในไม่กี่ชั่วโมง
เมื่อถูกถามว่าเจตนาว่าจะรบกับสื่อ ประชาชน หรือใครนั้น รมว. กล่าวว่าเจตนาไม่อยากก่อปัญหากับสื่อมวลชน เพราะไม่ใช่ปัญหาหากเสนออย่างมีจริยธรรม โดยเน้นคำว่าอินเทอร์เน็ตในประกาศ “ก็คือสื่อออนไลน์ สื่อเทียม คนที่ไม่ใช่สื่อแต่ทำตัวเสมือน คนเหล่านี้เค้าไม่มีจรรยาบรรณไม่มีมาตรฐานเหมือนพี่ผู้(ประกาศ)ข่าว และก็มีเจตนาแอบแฝงทางการเมืองด้วย บางทีก็เจตนาแอบแฝงทางธุรกิจ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องเข้าไปกำกับดูแล”
ตอนท้ายของการสัมภาษณ์ เมื่อพิธีกรถามถึงการแถลงของ รมว. หลังการประชุมแก้ไขปัญหา Fake news ที่กล่าวว่าจะมีมาตรการทางปกครองและทางภาษีจัดการ “พวกปั่นข่าว Fake news” นั้น จะมีการตรวจสอบภาษีย้อนหลังของคนที่จะถูกดำเนินการหรือไม่นั้น รมว. กล่าวว่า platform ที่จดทะเบียนอยู่ต่างประเทศไม่ได้เสียภาษีให้ประเทศไทยอยู่แล้ว จะใช้เรื่องนี้เป็นตัวขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาทางภาษี ทั้งนี้ไม่ได้ตอบถึงการดำเนินการตรวจสอบเป็นรายบุคคลโดยชัดแจ้งแต่อย่างใด
ที่มา: รายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand (ตั้งแต่เวลา 08:19 – 08:33 น.)